ข่าวสารประชาสัมพันธ์

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจพบยานอนหลับชนิดใหม่ระบาดในประเทศไทย
  • 15.11.2017
  • 81,465
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจพบยานอนหลับชนิดใหม่ระบาดในประเทศไทย
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ตรวจพบยานอนหลับชนิดใหม่อีทิโซแลม (Etizolam)ได้เป็นครั้งแรกในประเทศไทย ซึ่งมีฤทธิ์ทำให้ง่วงนอนมากกว่ายานอนหลับไดอาซีแพม(Diazepam) ถึง 10 เท่า อาจทำให้เสียชีวิตได้ โดยพบในเขตจังหวัดชายแดนภาคใต้
 
นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า เมื่อช่วงเดือนกันยายนถึงเดือนตุลาคม 2560 ที่ผ่านมา กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดย สำนักยาและวัตถุเสพติด และศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 12 สงขลา ได้ร่วมกันตรวจวิเคราะห์ของกลางที่ส่งตรวจจากสถานีตำรวจภูธร 7 แห่งในเขตจังหวัดนราธิวาสและยะลารวม 10 ตัวอย่าง  มีลักษณะเป็นยาเม็ดกลมแบนสีส้ม ด้านหนึ่งมีตัวพิมพ์ “5” ส่วนอีกด้านเป็นสัญลักษณ์ “     ” บรรจุในแผงอลูมิเนียมสีเงินพลาสติกใสสีแดงแผงละ 10 เม็ด บนแผงพิมพ์ภาษาอังกฤษระบุผลิตในประเทศญี่ปุ่น (MADE IN JAPAN) และชื่อยา “Erimin5” พบว่า เป็นยาปลอมเนื่องจากตรวจไม่พบส่วนประกอบที่เป็นยาไนเมตาซีแพม (Nimetazepam) ที่ปกติจะพบอยู่ในยา Erimin 5 และจัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทประเภท 2 มักนำไปใช้ทดแทนยาเสพติด ซึ่งมีการแพร่ระบาดมากในสถานบันเทิง เขตจังหวัดชายแดนภาคใต้  ผลการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยันชนิดของยา โดยใช้เทคนิคต่างๆในห้องปฏิบัติการประกอบกัน ได้แก่ เทคนิคโครมาโทกราฟีแผ่นบาง (TLC) การวัดการดูดกลืนแสงด้วยเครื่องยูวี วิส สเปคโทรโฟโตมิเตอร์ การตรวจด้วยเครื่อง Gas chromatograph-Mass spectrometer และเทคนิค Infrared spectroscopy ทำให้สามารถยืนยันการตรวจของกลางทั้ง 10 ตัวอย่าง พบว่าเป็นยาอีทิโซแลม (Etizolam)ซึ่งเป็นยานอนหลับชนิดใหม่ที่เพิ่งตรวจพบครั้งแรก ในประเทศไทย
 
นายแพทย์สุขุม กล่าวเพิ่มเติมว่า ยาอีทิโซแลม มีสูตรโครงสร้างทางเคมีและการออกฤทธิ์คล้ายกับยานอนหลับในกลุ่มเบนโซไดอาซีปีนส์ ซึ่งดูดซึมได้ดีผ่านระบบทางเดินอาหารให้ระดับยาในเลือดสูงสุดภายในเวลา 0.5-2 ชั่วโมง  เป็นยากลุ่มกดประสาทที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลางมีฤทธิ์ทำให้ง่วงซึม ในบางประเทศ เช่น ญี่ปุ่น อิตาลี และ อินเดีย อนุญาตให้ใช้เป็นยาในรูปแบบยาเม็ดขนาดความแรงต่างๆกันสำหรับรักษาโรควิตกกังวลที่มีภาวะซึมเศร้าและอาการนอนไม่หลับ แต่มีอาการไม่พึงประสงค์และอาการข้างเคียง เช่น ทำให้ง่วงซึมระหว่างวัน กล้ามเนื้ออ่อนแรง พูดจาเลอะเลือน เดินเซ ง่วงนอน อาจมีอาการกล้ามเนื้อรอบดวงตาหดเกร็งตัวในผู้ป่วยที่ใช้ยามากกว่า 1 เดือนจะกดระบบหายใจทำให้เสียชีวิตได้ นอกจากนี้ยังทำให้เสพติดและมีการนำไปใช้ในทางที่ผิดใช้ทดแทนยาอี (Ecstasy)รวมทั้งมีการโฆษณาเป็นสารเคมีสำหรับในใช้ในการศึกษาวิจัย ในบางประเทศสามารถหาซื้อได้ง่ายทางอินเตอร์เน็ตหรือร้านค้าท้องถิ่นในรูปแบบ ยาเม็ด ผง หรือเคลือบซับอยู่บนกระดาษ แต่ในหลายๆประเทศได้ตระหนักถึงอันตรายและแนวโน้มการนำไปใช้ในทางที่ผิดของยาชนิดนี้ จึงกำหนดให้เป็นสารที่ต้องควบคุมตามกฎหมาย เช่น ประเทศ เดนมาร์ก เยอรมนี สหรัฐอเมริกาในบางรัฐ เช่นฟลอริด้า อลาบามา เวอร์จิเนีย เท็กซัส เป็นต้น และล่าสุดมีรายงานข่าวกรณีมีผู้เสียชีวิตจำนวน 6 รายในสกอตแลนด์เมื่อปี พ.ศ.2559 เนื่องจากใช้ยาไดอาซีแพมปลอมที่บางตัวอย่างมีส่วนผสมของยาอีทิโซแลมประเทศสหราชอาณาจักรโดย The Misuse of Drug Act 1971 ได้ประกาศให้เป็นยาควบคุมกลุ่ม C ซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกับการควบคุมวัตถุออกฤทธิ์ชนิดอัลปราโซแลม (Alprazolam)และไดอาซีแพม (Diazepam)นอกจากนี้ยาดังกล่าวเป็น 1 ใน 16 ชนิด ที่องค์การสหประชาชาติจะมีการทบทวนและพิจารณาการควบคุมทางกฎหมายระดับสากลในการประชุม ECDD (Expert Committee on Drug Dependence) ครั้งที่ 39 ระหว่างวันที่ 16-20 พฤศจิกายน 2560นี้ สำหรับในประเทศไทยเนื่องจากยาดังกล่าวไม่มีจำหน่ายหรือไม่ได้มีการขึ้นทะเบียนในประเทศจึงยังไม่ถูกควบคุมหรือประกาศให้เป็นวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท
"ยาอีทิโซแลม ที่เริ่มมีการแพร่ระบาดและมีแนวโน้มนำไปใช้ในทางที่ผิดในประเทศไทย เป็นการตรวจพบครั้งแรก โดยห้องปฏิบัติการของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แสดงให้เห็นถึงศักยภาพและความมุ่งมั่นของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่จะพัฒนาการตรวจวิเคราะห์ยาเสพติดชนิดใหม่เพื่อให้ทันการณ์ในยุคโลกไร้พรมแดน ทำให้ได้ข้อมูลที่พร้อมสำหรับหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้องที่จะนำไปใช้ได้ทันท่วงทีเช่นสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา นำไปใช้ป้องกัน เฝ้าระวัง ปราบปราม และพิจารณาทบทวนข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องหรือใช้แจ้งเตือนให้ประชาชนทราบถึงอันตรายต่อไป" นายแพทย์สุขุม กล่าว
 
ที่มา : กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ (http://www3.dmsc.moph.go.th/post-view/211)
ข่าวสารอื่นๆ
ข่าวประชาสัมพันธ์
บุคลากรสำนักยาและวัตถุเสพติดร่วมประชุมเพื่อรับมอบแนวทางการดำเนินงานของสำนักจากผู้อำนวยการ
11.10.2024
บุคลากรสำนักยาและวัตถุเสพติดร่วมประชุมเพื่อรับมอบแนวทางการดำเนินงานของสำนักจากผู้อำนวยการ
บุคลากรสำนักยาและวัตถุเสพติดร่วมประชุมเพื่อรับมอบแนวทางการดำเนินงานของสำนักจากผู้อำนวยการ เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2567 เวลา 09.00 น. ภญ. ศิริวรรณ ชัยสมบูรณ์พันธ์ ผู้อำนวยการสำนักยาและวัตถุเสพติด ได้พบปะพูดคุยกับบุคลากรของสำนัก เพื่อมอบแนวทางการดำเนินงาน พร้อมทั้งให้แนวคิด Show and Share ในการทำงาน โดยเน้นย้ำให้บุคลากรทำงานอย่างมีความสุขและเกิดประสิทธิภาพ พร้อมปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงและจัดสรรเวลาในการทำงานอย่างเหมาะสม ในโอกาสที่เข้ารับตำแหน่งผู้อำนวยการคนใหม่ของสำนักฯ โดยมี นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ให้เกียรติเข้าร่วมแสดงความยินดี พร้อมทั้งมอบนโยบายเสริม เพื่อช่วยขับเคลื่อนการทำงานของสำนักฯ ให้เป็นไปอย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพ ในโอกาสนี้ รองผู้อำนวยการทั้งสามท่าน ได้แก่ ภก.สิริชัย กระบี่ศรี ภญ.บุญฑริกา บุญญาภิวัฒน์ และ ภญ.จิรานุช แจ่มทวีกุล พร้อมด้วยบุคลากรจากสำนักยาและวัตถุเสพติด ได้ร่วมกันมอบช่อดอกไม้ต้อนรับผู้อำนวยการใหม่ด้วยบรรยากาศที่อบอุ่นและเปี่ยมด้วยมิตรภาพ ณ ห้องประชุม NIH อาคาร 1 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
ข่าวประชาสัมพันธ์
สำนักยาและวัตถุเสพติด และสถาบันวิจัยสมุนไพร ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมจิตอาสาปรับปรุงภูมิทัศน์สถานที่ทำงาน
11.10.2024
สำนักยาและวัตถุเสพติด และสถาบันวิจัยสมุนไพร ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมจิตอาสาปรับปรุงภูมิทัศน์สถานที่ทำงาน
เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2567 ภญ. ศิริวรรณ ชัยสมบูรณ์พันธ์ ผู้อำนวยการสำนักยาและวัตถุเสพติด และนายสันตกิจ นิลอุดมศักดิ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสมุนไพร พร้อมด้วยบุคลากรจากทั้งสองหน่วยงาน ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมจิตอาสาในการปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณอาคาร 2 และอาคาร 4 ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยกิจกรรมดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างบุคลากรของทั้งสองหน่วยงาน ตลอดจนเพื่อรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของสถานที่ทำงาน โดยทุกคนได้ร่วมแรงร่วมใจในการพัฒนาพื้นที่ให้สวยงามและเป็นระเบียบ นับเป็นกิจกรรมที่สะท้อนถึงความร่วมมืออันดีและความตั้งใจที่จะสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีให้กับองค์กร