ขนาดบรรจุ
30 Test/Set ราคา 1,300 บาท
สำนักยาและวัตถุเสพติดเป็นเพียงผู้วิจัยและพัฒนาชุดทดสอบ มิได้เป็นผู้จำหน่าย
ผู้สนใจสั่งซื้อได้ที่ : ร้านผลิตภัณฑ์กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
ที่อยู่ : 88/7 ถ.ติวานนท์ ต.ตลาดขวัญ อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000 โทรศัพท์.0 2951 0000 ต่อ 98463,98450
อีเมล [email protected]
ชุดตรวจสเตียรอยด์ในยาแผนโบราณชนิดเม็ดหรือผง เป็นชุดทดสอบ (test kit) สำหรับตรวจหาสารสเตียรอยด์ที่อาจปลอมปนในยาแผนโบราณชนิดเม็ดหรือชนิดผง โดยเป็นชุดทดสอบเบื้องต้น (screening test) ที่ใช้หลักการ Thin Layer Chromatography (TLC) ปริมาณต่ำสุดที่ตรวจได้คือ 2 ไมโครกรัม โดยหากตรวจพบผลบวก ควรส่งตัวอย่างตรวจยืนยันผลที่ห้องปฏิบัติการอีกครั้งหนึ่ง
วัตถุประสงค์
ใช้เป็นวิธีการตรวจสอบเบื้องต้น สำหรับตรวจสารคอร์ติโคสเตียรอยด์ชนิดเด็กซาเมทาโซน และเพรดนิโซโลนที่ปนปลอมในยาแผนโบราณ ชนิดเม็ด และชนิดผง
หลักการ
ใช้หลักการแยกสารด้วย Thin Layer Chromatography (TLC) และตรวจสอบด้วยกระดาษทำให้เกิดสี ซึ่งจะเปลี่ยนเป็นสีของสารคอร์ติโคสเตียรอยด์เป็นสีม่วง
น้ำยาเคมีและอุปกรณ์ที่มีให้ในกล่อง
1. ขวดบรรจุน้ำยา A
2. ขวดบรรจุน้ำยา B
3. ขวกบรรจุน้ำยา C
4. ขวดบรรจุสารมาตรฐาน Dexamethasone (DX) และ Prednisolone (PS)
5. แผ่นกระดาษทำให้เกิดสี 10 แผ่น (ไม่ควรใช้มือหยิบ, จับ และควรเก็บในซองสีน้ำตาลที่บรรจุเพื่อป้องกันแสง)
6. แผ่นรงคเลขผิวบาง (แผ่น TLC) 10 แผ่น
7. แผ่นพลาสติกสำหรับรองแผ่น TLC ซึ่งมีขีดตารางด้านซ้ายมือ
8. หลอดสำหรับหยดน้ำยา (Capillary tube) 30 อัน
9. ขวดปากกว้างพร้อมฝาปิด (ขวดรันTLC) 1 ขวด
10. ขวดสำหรับละลายตัวอย่างพร้อมจุกปิด 2 ขวด
11. วิธีใช้พร้อมรูปประกอบ
- รายการที่ 5 และ 6 บรรจุในซองสีน้ำตาล
- รายการที่ 4, 7, 9, 11 บรรจุในขวดปากกว้างพร้อมฝาปิด (ขวดรัน TLC)
- อุปกรณ์ที่ต้องใช้เพิ่ม คือ ดินสอดำ, ปากคีบ และปากกา (marker) สำหรับเขียนอักษรกำกับบนขวด
วิธีเตรียมอุปกรณ์ (ควรทำตามลำดับ โดยไม่ข้ามขั้นตอนไปมา)
1. เตรียมขวดน้ำยาสำหรับแยกสารคอร์ติโคสเตียรอยด์
ใส่น้ำยา B ลงในขวดปากกว้าง (ขวด Run TLC) สูงประมาณ 0.5 เซนติเมตร ปิดฝาให้สนิทแล้วตั้งทิ้งไว้
2. เตรียมสารละลายตัวอย่าง
2.1 กรณีที่ตัวอย่างเป็นผง ใส่ผงยาครึ่งช้อนชา (ประมาณ 1 กรัม) ลงในขวดสำหรับละลายตัวอย่าง
2.2 กรณีที่ตัวอย่างเป็นยาเม็ดหรือลูกกลอน โดยหากมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางน้อยกว่า 1 เซนติเมตร ใช้ 3-4 เม็ด หากมีขนาด 1 เซนติเมตรขึ้นไป ใช้ 1 เม็ด จากนั้น บดยาให้แตกละเอียด (หรือใช้กรรไกรสะอาดตัดเป็นชิ้นเล็กๆ) ใส่ลงในขวดสำหรับละลายตัวอย่าง
2.3 เขียนชื่อหรืออักษรกำกับบนขวด
2.4 หยดน้ำยา A ลงในตัวอย่างจนเปียกทั่วถึงกัน แล้วหยดเพิ่มอีก 10-15 หยด (หรือพอท่วมผงยา) ปิดฝาขวดเขย่า 1-2 นาที แล้วตั้งทิ้งไว้ให้ตกตะกอน
3. เตรียมสารละลายมาตรฐาน
เติมน้ำยา A ลงในขวดบรรจุสารมาตรฐาน Dexamethasone (DX) และ Prednisolone (PS) 3 หยด เขย่าเล็กน้อยให้ละลาย ปิดฝาขวด (เก็บไว้ใช้ซ้ำได้)
4. เตรียมแผ่นรงคเลขผิวบาง (แผ่น TLC)
4.1 วางแผ่น TLC ทาบลงบนตาราง บนแผ่นพลาสติกสำหรับรองให้ส่วนล่างชิดเส้นล่างสุดของตาราง (ด้านที่เป็นพลาสติกอยู่ด้านล่าง)
4.2 ใช้ดินสอดำจุดลงบนจุดตัดของเส้นที่อยู่สูงจากเส้นล่างขึ้นมา 1 เซนติเมตร จะได้จุด 4 จุด (ใช้เป็นจุดสำหรับหยดน้ำยาของสารมาตรฐาน 2 จุด และตัวอย่าง 2 จุด) เส้นบนสุดของตารางคือระดับที่กำหนดให้น้ำยาวิ่งขึ้นสูงสุด ใช้ดินสอดำขีดไว้เบาๆ
4.3 ส่วนที่เหนือจากเส้นกำหนดให้น้ำยาวิ่งขึ้นสูงสุดเป็นส่วนที่ใช้เขียนชื่อกำกับแต่ละจุดด้วยดินสอดำ
วิธีทดสอบ
1. ใช้หลอดหยดดูดน้ำยาส่วนที่ใสของสารละลายตัวอย่าง และสารมาตรฐานที่เตรียมไว้แล้ว หยดลงบนจุดที่กำหนดบนแผ่น TLC ยกหลอดขึ้น รอจนน้ำยาที่หยดไว้แห้ง แล้วทำซ้ำ 3-5 ครั้ง (สารมาตรฐานทำซ้ำ 3 ครั้ง สารละลายตัวอย่างทำซ้ำอย่างน้อย 5 ครั้ง)
2. นำแผ่น TLC ใส่ในขวด Run TLC ที่เตรียมไว้ พร้อมกับปิดฝาขวดพยายามอย่าให้ขวดกระเทือนหรือเคลื่อนที่
3. เมื่อน้ำยาขึ้นไปจนถึงระดับที่ต้องการ (หรือจับเวลา 10 นาที) เปิดฝาขวดแล้วใช้คีมคีบแผ่น TLC ออกจากขวด วางพิงข้างขวด ทิ้งให้แห้งพร้อมกับปิดฝาขวด เพื่อป้องกันน้ำยาระเหย (เก็บไว้ใช้ได้อีก)
4. ใช้คีมคีบแผ่นกระดาษทำให้เกิดสี วางบนแผ่นพลาสติกสำหรับรอง หยดน้ำยา C ลงบนกระดาษจนเปียกชุ่มทั่วแผ่น
5. วางแผ่น TLC (จากข้อ 3) คว่ำบนกระดาษทำให้เกิดสี (จากข้อ 4) โดยให้ด้านที่เป็นพลาสติกอยู่ด้านบน ใช้นิ้วมือกดบนแผ่น TLC จนเห็นน้ำยาเปียกทั่วแผ่น ให้หงายแผ่น TLC ขึ้นจะเห็นจุด (Spot) สีม่วงบนแผ่น TLC (กระดาษทำให้เกิดสีที่ใช้แล้ว ทิ้งไป)
การอ่านผล
ผลบวก สีและระยะทางจากจุดเริ่มต้นของจุด (spot) ที่เกิดขึ้นของตัวอย่างจะเหมือนและตรงกับสารมาตรฐาน
ผลลบ ไม่เกิดจุด (spot) สีม่วง หรือเกิดสีม่วง แต่ระยะทางจากจุดเริ่มต้นไม่เท่ากัน
จากแผ่น TLC ที่แสดงดังรูปข้างบนนี้แสดงว่า
ตัวอย่างที่ 1 อาจมีสเตียรอยด์ Dexamethasone
ตัวอย่างที่ 2 อาจมีสเตียรอยด์ Prednisolone
ส่วนตัวอย่างที่ 3 ตรวจไม่พบสารสเตียรอยด์ดังกล่าวผสมอยู่
หมายเหตุ
1. ปริมาณต่ำสุดของสารมาตรฐานที่อ่านผลได้ชัดเจนเท่ากับ 2 ไมโครกรัม
2. ตัวอย่างที่ได้ผลบวก ควรส่งให้ห้องปฏิบัติการตรวจยืนยันผลอีกครั้งหนึ่ง
3. สารที่อาจรบกวนการตรวจ เช่น สเตียรอยด์จากพืชบางชนิด
ห้องปฏิบัติการตรวจยืนยันผล
1. สำนักยาและวัตถุเสพติด กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ถ. ติวานนท์ จ.นนทบุรี
2. ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ นครราชสีมา
3. ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ อุบลราชธานี
4. ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ อุดรธานี
5. ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ ขอนแก่น
6. ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ เชียงใหม่
7. ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ พิษณุโลก
8. ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ นครสวรรค์
9. ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ ชลบุรี
10. ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ สงขลา
11. ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ ตรัง
12. ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ สุราษฎร์ธานี
13. ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ สมุทรสงคราม
ข้อแนะนำและข้อควรระวังในการใช้ชุดทดสอบ
1. ควรทำในที่อากาศถ่ายเทได้สะดวก ห่างจากแหล่งกำเนิดความร้อนหรือเปลวไฟ
2. สารเคมีทุกชนิดเป็นอันตราย ไม่ควรสูดดมหรือสัมผัสโดยตรง เมื่อใช้ควรปิดฝาให้สนิท (ถ้าโดนผิวหนังหรือเข้าตาให้ล้างออกด้วยน้ำสะอาดปริมาณมากๆ) เมื่อไม่ต้องการใช้อีก ให้ทำลายในสถานที่กำจัดของเสียของแต่ละหน่วยงาน
3. เมื่อนำน้ำยา B มาใช้ครั้งต่อไป ควรตรวจดูระดับน้ำยาก่อนทุกครั้ง
4. หลอดสำหรับหยดสารละลายตัวอย่าง เมื่อใช้แล้วให้ทิ้งไป ไม่ควรนำไปใช้กับตัวอย่างอื่นๆ อีก
5. กระดาษทำให้เกิดสี ควรเก็บในซองกระดาษสีน้ำตาลเพื่อป้องกันแสง
6. แผ่นพลาสติกสำหรับรอง สามารถนำกลับมาใช้ได้อีก โดยล้างน้ำสะอาดและเช็ดให้แห้ง