สำนักยาและวัตถุเสพติด กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จัดสัมมนาผู้รับบริการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียด้านเครื่องมือแพทย์ เมื่อวันอังคารที่ 30 มกราคม 2561 ณ ห้องประชุม 110 อาคาร 14 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ การสัมมนาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อรับฟังทัศนะ ทำความเข้าใจต่อสถานการณ์และชี้แจงนโยบายของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ อันเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ยังเป็นการเปิดโอกาสให้หน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน ได้แสดงความคิดเห็นในประเด็นที่มีความกังวลใจ รวมถึงให้ข้อเสนอแนะต่องานตรวจวิเคราะห์เครื่องมือแพทย์ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มีบทบาทหน้าที่ในการตรวจสอบคุณภาพเครื่องมือแพทย์ ตามนโยบายและประกาศควบคุมของกระทรวงสาธารณสุข และภารกิจในการเป็นห้องปฏิบัติการของกระทรวงสาธารณสุขเพื่อการคุ้มครองบริโภค นอกจากนี้ การขึ้นทะเบียนเครื่องมือแพทย์ตามกฎระเบียบด้านเครื่องมือแพทย์ (ASEAN Medical Device Directive) กำหนดให้ผู้ผลิตหรือผู้ประกอบการแสดงเอกสารตาม Common Submission Dossier template (CSDT) ซึ่งที่สำคัญคือข้อมูลทางด้านประสิทธิภาพ และความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ทำให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องหาหน่วยตรวจ เพื่อนำผลการวิเคราะห์ไปประกอบการขึ้นทะเบียน
เครื่องมือแพทย์ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ให้บริการตรวจสอบคุณภาพนั้น แบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่
► เครื่องมือแพทย์ที่มีกำลัง เช่น เครื่องเอกซเรย์ เครื่อง MRI เครื่องวัดระดับแอลกอฮอล์โดยวิธีเป่าลมหายใจ เครื่องวัดความดันโลหิต
► อุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่น ชุดให้น้ำเกลือ สำลี ถุงยางอนามัย กระบอกฉีดยา
► เครื่องมือแพทย์สำหรับการวินิจฉัยภายนอกร่างกาย (In Vitro Diagnostic (IVD) medical devices) เช่น น้ำยาสำหรับวินิจฉัยการติดเชื้อ HIV , HBV , HCV
หน่วยงานภายในกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ให้บริการตรวจวิเคราะห์เครื่องมือแพทย์มีหลายหน่วยงาน ได้แก่ สำนักยาและวัตถุเสพติด สำนักรังสีและเครื่องมือแพทย์ สำนักเครื่องสำอางและวัตถุอันตราย สถาบันชีววัตถุ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข และศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ในส่วนภูมิภาค กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จึงได้จัดตั้งคณะทำงานเครื่องมือแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยมีเภสัชกรหญิงสุรัชนี เศวตศิลา เป็นประธาน ทั้งนี้เพื่อตอบสนองนโยบายประเทศไทย 4.0 ในการพัฒนามาตรฐานเครื่องมือแพทย์ของไทย และนำพาไทยไปสู่การเป็น“Medical Hub” ทั้งด้านการวิจัยและพัฒนา และการส่งเสริมผู้ประกอบการในการพัฒนาขีดความสามารถไปสู่เชิงพาณิชย์ จึงจะนำไปสู่การกำหนดมาตรฐานเครื่องมือแพทย์ที่มีความสอดคล้องกับสากลมากขึ้น
ผู้ประกอบการที่ต้องการส่งเครื่องมือแพทย์เพื่อตรวจสอบคุณภาพ สามารถติดต่อได้ที่ศูนย์รวมบริการ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
ที่มา : กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์รับฟังความคิดเห็นผู้รับบริการ มุ่งพัฒนาคุณภาพการให้บริการด้านเครื่องมือแพทย์ (เว็บไซต์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์)