ข่าวสารประชาสัมพันธ์

สธ.ร่วมกับ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด พัฒนานวัตกรรมยาชีวเภสัชภัณฑ์ ผลักดันให้ประเทศไทยเป็น Medical Hub
  • 1.9.2017
  • 15,581
สธ.ร่วมกับ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด พัฒนานวัตกรรมยาชีวเภสัชภัณฑ์ ผลักดันให้ประเทศไทยเป็น Medical Hub

กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จัดทำบันทึกข้อตกลงร่วมกับ บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ จำกัดในการนำนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ได้จากการวิจัยและพัฒนาของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ไปขยายผล รวมถึงการต่อยอดผลการวิจัยพัฒนาต้นน้ำเพื่อพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์หรือวิธีทดสอบ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในวงกว้าง และประชาชนสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์สุขภาพได้มากยิ่งขึ้น ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ซึ่งจะมีส่วนสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็น Medical Hub ภายในปี 2568 

 

ศ.คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยต้องนำเข้ายาชีววัตถุปีละมูลค่ากว่า 25,000 ล้านบาท แต่คนไทยสามารถเข้าถึงยาดังกล่าวได้เพียง 5,338 ราย ยังมีคนไทยที่ป่วยอีกกว่า 2 ล้านรายที่ต้องได้รับยาดังกล่าว ดังนั้นรัฐบาลจึงเร่งแก้ปัญหาดังกล่าวภายใต้โมเดลประเทศไทย 4.0 โดยการส่งเสริมให้ภาครัฐร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมและสถาบันการศึกษาในการพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์ไปสู่เป้าหมายในการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจของนวัตกรรมกลุ่มสุขภาพ และผลักดันให้ประเทศไทยเป็น Medical Hub ในปี พ.ศ.2568 กระทรวงสาธารณสุขจึงได้ปรับแผนการทำงานตามยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปีด้านสาธารณสุข ด้วยการปฏิรูประบบสาธารณสุข และสร้างความเข้มแข็งไปสู่ความยั่งยืน เพื่อให้ประเทศไทยสามารถเป็นผู้นำด้านการแพทย์และสาธารณสุข 1 ใน 3 ของเอเชีย

 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวเพิ่มเติมว่ากรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นหน่วยงานหนึ่งในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ที่มีบทบาทสำคัญในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุข ดังนั้นเพื่อให้ผลงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขสามารถขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติได้สำเร็จ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จึงได้ร่วมมือทำข้อตกลงกับบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด โดยความร่วมมือครั้งนี้จะมีส่วนช่วยพัฒนาให้ไทยเป็นผู้นำด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้านการแพทย์ โดยการพัฒนาต่อยอดงานวิจัยให้เกิดนวัตกรรมของประเทศ พร้อมทั้งสนับสนุนการพัฒนาชีวเภสัชภัณฑ์ของภาคอุตสาหกรรม เพื่อลดการนำเข้าและสร้างมูลค่าทางการแข่งขัน ของประเทศส่งผลให้ประเทศไทยไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมภายใต้โมเดลประเทศไทย 4.0 ตามแนวทางประชารัฐ

 

นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ที่ผ่านมากรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มีผลงานสำคัญ ได้แก่ การพัฒนาชุดทดสอบที่ผ่านการประเมินและตรวจสอบคุณภาพ มีการผลิตในระบบคุณภาพ EN ISO 13485:2012 เช่น ชุดทดสอบมาลาเรีย ชุดตรวจเชื้อเลปโตสไปรา ชุดตรวจสเตียรอยด์ เป็นต้น การพัฒนาวิธีทดสอบด้านชีวโมเลกุล เช่น Real time PCR โดยมีส่วนประกอบหลักที่สำคัญ คือ เอนไซม์ Taq Polymerase การพัฒนา Biotherapeutics โดยมีระบบการสร้างและผลิตรีคอมบิแนนท์โปรตีนใน E.coli และ mammalian cell เพื่อผลิตโปรตีนแอนติเจนและโมโนโคลนอลแอนติบอดี ชนิด prototype เพื่อทำการศึกษาในระดับพรีคลินิก และมีศูนย์วิจัยทางคลินิกทำการศึกษาวิจัยทางคลินิก นอกจากจะร่วมมือกันในการพัฒนายาชีวเภสัชภัณฑ์ภาคอุตสาหกรรม ความร่วมมือครั้งนี้จะช่วยผลักดันการนำนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ได้จากการวิจัยและพัฒนา ไปขยายผล รวมถึงการต่อยอดผลการวิจัยพัฒนาต้นน้ำเพื่อพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์หรือวิธีทดสอบ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในวงกว้าง และประชาชนสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์สุขภาพมากยิ่งขึ้น ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศซึ่งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จะร่วมขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวไปสู่เป้าหมายสูงสุด มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน 

 

รายงานโดย สถาบันชีววิทยาศาสตร์ทางการแพทย์, สถาบันชีววัตถุ, สำนักยาและวัตถุเสพติด

ที่มา :

1) http://www3.dmsc.moph.go.th/post-view/132

2) จดหมายข่าวกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ปีที่ 31 ฉบับที่ 8 เดือนสิงหาคม 2560

ดาวน์โหลด

https://website.bdn.go.th/front/template/default/assets/image/icon/icon-file.svg
news6001
ประเภทไฟล์ : .pdf ขนาด : 0.48 Mb จำนวนดาวน์โหลด : 849
ข่าวสารอื่นๆ