กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้รวบรวมข้อมูลยาและผู้ผลิตจากโครงการประกันคุณภาพยา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 – 2563 มาเผยแพร่ในชื่อ GREEN BOOK 2021 โดยยกเลิกการพิมพ์หนังสือ ผู้สนใจสามารถสืบค้นข้อมูลได้จาก Mobile application หรือเว็บไซต์ https://bdn.go.th/th/ebook นับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
GREEN BOOK 2021 ประกอบด้วยรายการยาชื่อสามัญ 390 รายการ หรือ 2,544 ทะเบียนยา โดยเป็นยาที่ผลิตในประเทศและต่างประเทศ ในจำนวนนี้มียาจากสมุนไพรที่ได้รับการบรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติ ได้แก่ ขมิ้นชันแคปซูล ฟ้าทะลายโจรแคปซูล เจลพริก เถาวัลย์เปรียงแคปซูล ทั้งนี้เพื่อช่วยส่งเสริมการใช้สมุนไพรไทยในการดูแลรักษาสุขภาพ และช่วยสนับสนุนผู้ผลิตยาสมุนไพรให้สามารถผลิตยาได้มาตรฐานมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังมีรายการยาชีวเภสัชภัณฑ์ (biopharmaceutical products) เช่น Erythropoietin, Filgrastim, Heparin, Insulin, Somatropin ซึ่งเป็นยาที่ผลิตจากโปรตีน มีขั้นตอนการผลิตที่ซับซ้อนและแตกต่างจากยาที่ผลิตจากสารเคมี ทำให้มีราคาแพงมาก ข้อมูลยาชีวเภสัชภัณฑ์ใน GREEN BOOK 2021 จึงช่วยให้แพทย์และเภสัชกรสามารถเลือกยาจากผู้ผลิตที่เข้ามาตรฐานในราคาที่สมเหตุผล
อนึ่ง โครงการประกันคุณภาพยาเริ่มดำเนินการครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2545 โดยสุ่มตัวอย่างยาจากโรงพยาบาลรัฐทั่วประเทศมาตรวจสอบคุณภาพด้วยวิธีมาตรฐานสากล เช่น USP BP ปีละ 1 ครั้ง ยาที่เข้ามาตรฐานตามเกณฑ์การคัดเลือกจากโครงการประกันคุณภาพยา กล่าวคือยาต้องผ่านมาตรฐาน 3 รุ่นผลิตขึ้นไป โดยไม่มีรุ่นผลิตใดที่ผิดมาตรฐาน จะได้รับการเผยแพร่ใน GREEN BOOK ซึ่งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้เริ่มเผยแพร่หนังสือ GREEN BOOK เล่มแรก (ชื่อเดิมคือ รายชื่อผลิตภัณฑ์ยาคุณภาพและผู้ผลิต) เมื่อปี พ.ศ. 2548 จากนั้น ได้เผยแพร่หนังสือ GREEN BOOK ปีละ 1 ครั้ง อย่างต่อเนื่อง ได้แก่ GREEN BOOK 1-12, 2017-2020, ฉบับพิเศษ Antimicrobial drugs 2018, ฉบับพิเศษ Antituberculosis drugs 2018 รวม 18 เล่ม โดยจัดพิมพ์และแจกจ่ายไปยังสถานพยาบาล มหาวิทยาลัย และหน่วยงานสาธารณสุขทั่วประเทศกว่า 70,000 เล่ม
ในปี พ.ศ.2560 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้จัดทำระบบสืบค้นข้อมูล GREEN BOOK ซึ่งสามารถใช้งานผ่าน Mobile application “GREEN BOOK DMSC” ทั้งระบบ android และ iOS หรือสืบค้นทางเว็บไซต์ https://bdn.go.th/th/ebook ทั้งนี้ เพื่อลดการใช้กระดาษและสอดคล้องกับยุทธศาสตร์เทคโนโลยีสารสนเทศสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข พบว่าจำนวนการเข้าใช้งานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จาก 20 ครั้งต่อเดือน ในปี พ.ศ. 2560 เป็น 100 ครั้งต่อเดือน ในต้นปี พ.ศ. 2564 ซึ่งสอดคล้องกับผลการสำรวจของโรงพยาบาลรัฐทั่วประเทศ ในปี 2563 - 2564 เรื่องช่องทางการสืบค้น GREEN BOOK ที่โรงพยาบาลเลือกใช้และสะดวกมากที่สุด คือ ทางเว็บไซต์ (43%) Mobile application (27%) และหนังสือ (30%) ดังนั้น กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จึงเห็นควรยกเลิกการจัดพิมพ์หนังสือ GREEN BOOK และสนับสนุนให้ใช้ระบบสืบค้นข้อมูล GREEN BOOK แทน ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป