สำนักยาและวัตถุเสพติดจัดโครงการสัมมนาผู้มีส่วนได้ส่วนเสียด้านยาและยาเสพติด และสมาชิกแผนทดสอบความชำนาญด้านการตรวจยาเสพติดของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เมื่อวันพุธที่ 17-18 ธันวาคม 2561 ณ โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ คอนเวนชั่น เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร โดยมีนายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นประธานเปิดงาน การสัมมนาในครั้งนี้แบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นการสัมมนาผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของสำนักยาและวัตถุเสพติด ส่วนที่สองเป็นการสัมมนาสมาชิกแผนทดสอบความชำนาญด้านการตรวจยาเสพติด
การสัมมนาผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของสำนักยาและวัตถุเสพติดมีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดโอกาสให้หน่วยงานทั้งภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ เอกชน สมาคม และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้แสดงความคิดเห็นและให้ข้อเสนอแนะต่องานด้านยาและยาเสพติด อีกทั้งเป็นเวทีให้นักวิชาการ/ผู้ปฏิบัติงานได้พบปะ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และได้รับความรู้ใหม่ๆ ที่เป็นปัจจุบัน เช่น สถานการณ์/กฎหมายยาเสพติด การพัฒนายาจากสมุนไพรให้ได้มาตรฐานสากล ฯลฯ
ส่วนที่สองเป็นการสัมมนาสมาชิกแผนทดสอบความชำนาญด้านการตรวจยาเสพติด มีวัตถุประสงค์เพื่อชี้แจงผลการดำเนินงาน ปัญหาที่พบ แนวทางแก้ไขของแผนการทดสอบความชำนาญในปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 รับฟังปัญหา/ข้อเสนอแนะจากผู้เข้าร่วมสัมมนาเพื่อนำมาพัฒนาปรับปรุงการดำเนินงานต่อไป และนำเสนอแผนการทดสอบความชำนาญในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 รวมทั้งให้ความรู้ที่เป็นประโยชน์การปฏิบัติงาน เช่น มาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับห้องปฏิบัติการ (ISO/IEC 17025:2017, ISO/IEC 15189:2012, มาตรฐานกระทรวงสาธารณสุข)
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เป็นหน่วยงานแห่งแรกและแห่งเดียวของประเทศไทยที่ให้บริการทดสอบความชำนาญทางห้องปฏิบัติการด้านยาและยาเสพติด โดยได้รับการรับรองตามมาตรฐาน ISO/IEC 17043: 2010 เมื่อปี พ.ศ. 2559 ในการเป็นผู้ดำเนินแผนการทดสอบความชำนาญทางห้องปฏิบัติจำนวน 3 แผน ได้แก่ ด้านยา ด้านสารเสพติดในปัสสาวะ และยาเสพติดในของกลาง ปัจจุบัน มีสมาชิกทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมจำนวนมากกว่า 1,000 หน่วยงาน
สำหรับการทดสอบความชำนาญทางห้องปฏิบัติการด้านยาเสพติด ดำเนินงานโดยสำนักยาและวัตถุเสพติด กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนให้นักวิเคราะห์ได้รับการพัฒนาทักษะความชำนาญในการตรวจพิสูจน์และดำเนินการตามระบบคุณภาพให้มีมาตรฐานและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน รวมทั้งเสริมสร้างความเชื่อมั่นของนักวิเคราะห์ในการรายงานผลการตรวจวิเคราะห์ซึ่งจะนำไปใช้เป็นหลักฐานสำคัญทางอรรถคดี อีกทั้งเป็นการสร้างเครือข่ายสถานตรวจพิสูจน์เพื่อสนับสนุนการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดของประเทศ ปัจจุบัน การทดสอบความชำนาญทางห้องปฏิบัติการด้านยาเสพติดเปิดให้บริการจำนวน 3 แผน ได้แก่ การตรวจเบื้องต้นสารเสพติดในปัสสาวะ การตรวจยืนยันสารเสพติดในปัสสาวะ และการตรวจพิสูจน์ยาเสพติดในของกลาง ผู้สนใจสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์การทดสอบความชำนาญทางห้องปฏิบัติการ