สาระความรู้

เรื่องเล่าเร้าพลัง 2566
  • 31.8.2023
  • 390
เรื่องเล่าเร้าพลัง 2566

      สำนักยาและวัตถุเสพติด ได้ร่วมเข้าประกวดเรื่องเล่าเร้าพลัง (Springboard Success Storytelling Contest) ณ ห้องประชุม ๑๑๐ ชั้น ๑ อาคาร ๑๐๐ ปี การสาธารณสุขไทย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ในวันอังคารที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๖๖ โดย นางสาวศุภกาน ศรีเพ็ชร์ เภสัชกรชำนาญการ 

 

ตามหายาใหม่ในดินแดนขั้วโลกเหนือ  

   ถ้าใครเป็นนักเดินทาง คงมีซักแว่บที่อยากไปเยือนดินแดนห่างไกลอันหนาวเหน็บ อย่างขั้วโลก แต่จะมีสักกี่คนที่ได้โอกาสไปใช้ชีวิตในพื้นที่เหล่านั้น การตามหาคำตอบของคำถามที่เกิดจากการทำงานในกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ยิ่งดูเป็นเรื่องไกลจากขั้วโลกเหนือมากขึ้นอีก แต่เหมือนสวรรค์จะได้ยินคำขอจากนักเดินทางในคราบนักวิจัยตัวเล็กๆ จึงได้โยนโอกาสมาให้ไขว่คว้า การเดินทางไปศึกษาต่อปริญญาเอกทางเภสัชศาสตร์ ณ สาธารณรัฐไอซ์แลนด์ ของเภสัชกรหญิงศุภกาน จึงเริ่มต้นขึ้น

   หลังจากจบปริญญาโทเภสัชศาสตร์ และกลับมาทำงานที่สำนักยาและวัตถุเสพติด อยู่หลายปี ก็เกิดความสงสัยเกี่ยวกับการพัฒนายาใหม่มากขึ้นเรื่อยๆ ว่าที่จริงแล้ว เขาทำอย่างไรกันแน่ งานปลายน้ำที่ทำอยู่มีต้นกำเนิดอย่างไร แม้ในตอนเรียนมหาวิทยาลัยจะได้ฟังเรื่องเล่าจากอาจารย์มาพอสมควร รวมถึงขณะทำงาน พี่ๆ ในสำนักที่มีประสบการณ์ก็เล่าให้ฟังอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ทำให้ความสงสัยใคร่รู้หมดไป กลับยิ่งเพิ่มความอยากรู้อยากเห็น และอยากหาคำตอบมากขึ้น จนเป็นแรงผลักดันให้ตัดสินใจเรียนต่อปริญญาเอก แต่หนทางไปนั้นไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ หลังได้รับคำแนะนำจากอาจารย์ที่ปรึกษาระดับปริญญาโท ให้หาที่เรียนที่อื่นที่ไม่ใช่มหาวิทยาลัยเดิม เพื่อจะได้รับมุมมองใหม่ๆ และประกอบกับความต้องการที่จะได้ทุนเรียน ศุภกานจึงเสาะหาทุกช่องทาง ทุกโอกาสที่จะเป็นไปได้ ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยในประเทศหรือต่างประเทศ ทุนรัฐบาลประเทศต่างๆ ขณะที่หาทางอยู่นั้น ก็ได้ทราบจากรุ่นพี่ว่า กำลังมีการเปิดรับนักศึกษาปริญญาเอกพร้อมมีทุนให้ โดยโปรเฟสเซอร์ที่ University of Iceland สนใจหรือไม่ จำได้ว่า ตอนที่รู้ข่าวนั้นกังวลมาก กังวลว่าจะไม่สามารถคว้าโอกาสนี้ไว้ได้ แต่ด้วยความคิดที่ว่า “ไม่ลองไม่รู้” และ “สู้กันซักตั้ง” ทำให้ตัดสินใจติดต่ออาจารย์ที่คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของโปรเฟสเซอร์ เพื่อสอบถามข้อมูล จนกระทั่งได้ติดต่อพูดคุยกับโปรเฟสเซอร์ทางอีเมล์ นับตั้งแต่วันที่ตัดสินใจติดต่ออาจารย์ที่จุฬาฯ และโปรเฟสเซอร์ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2016 จนได้ไปยืนอยู่หน้า University of Iceland ในวันที่ 30 มิถุนายน 2018 ใช้เวลาร่วมสองปีครึ่ง เวลาเตรียมตัวอันยาวนาน หมดไปกับการนั่งเรือจากท่าน้ำนนท์ไปเรียนภาษาอังกฤษที่ธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ทุกวันหลังเลิกงานและเสาร์อาทิตย์ การขออนุญาตต่างๆ ตามระเบียบของราชการไทย การพลาดทุน EU ไป 1 ครั้ง เพราะเงื่อนไขระยะเวลารอยต่อระหว่างปริญญาโทและเอกที่นานเกิน 4 ปี แต่เพราะ “เมื่อจะสู้ก็ต้องสู้ให้ถึงที่สุด” ทำให้อาจารย์และโปรเฟสเซอร์เห็นถึงความตั้งใจมุ่งมั่น จึงช่วยหาทุนอื่นมาแทนให้

   ทุนบริษัทยา คือรายละเอียดทั้งหมดที่ได้รับในช่วงเวลาที่กระชั้นชิด เวลาที่ต้องเริ่มดำเนินการขออนุญาตลาศึกษาต่อกับกรม ซึ่งมีหลายขั้นตอนพอสมควร และเมื่อไม่ใช่ทุนรัฐบาลไทย แบบปกติที่เคยมีมา กฎเกณฑ์และระเบียบจึงแตกต่างไป ทำให้ต้องอาศัยความช่วยเหลือจากฝ่ายการเจ้าหน้าที่ทั้งในสำนักและระดับกรม เพื่อให้การขออนุญาตลาศึกษาสำเร็จลุล่วง ในที่สุดวันเดินทางก็มาถึง 29 มิถุนายน 2018 หลังจากยุ่งกับการเตรียมย้ายประเทศอยู่พักใหญ่ ความรู้สึกตื่นเต้นก็ค่อยๆ ปรากฎ ตอนนั้นได้แต่แอบภาวนาในใจว่า ภาษาอังกฤษที่ฝึกมาคงพอใช้ได้ การเดินทางค่อนข้างยาวนานเพราะต้องต่อเครื่องและรถหลายต่อ มารู้สึกตัวอีกทีว่าถึงไอซ์แลนด์จริงๆ ก็เมื่อเข้าไปพบโปรเฟสเซอร์ในอีก 2 วันต่อมา การแนะนำนักเรียนใหม่ของโปรเฟสเซอร์ให้กับคณบดีรู้จัก มาพร้อมความกดดัน She is from FDA, Thailand. ดึงศุภกานให้ออกจากความมึนงงของภาษาอังกฤษสำเนียงไอซ์แลนด์ จำได้ว่าตอนนั้นพูดว่า No, I am from Thai national lab. แม้ว่าระดับความกดดันจะยังไม่ทะลุสเกล แต่ก็เหมือนมีป้ายไทยแลนด์ขนาดใหญ่วางอยู่บนบ่า และนั่นแค่เริ่มต้น

   หลังจากจัดการเรื่องเอกสารการย้ายประเทศ การลงทะเบียนเรียน และอื่นๆ ในการดำรงชีวิตเรียบร้อย ก็ถึงเวลาไปพบโปรเฟสเซอร์เพื่อคุยเรื่องโปรเจคปริญญาเอก จึงได้ทราบว่า บริษัทยาที่ให้ทุน ซึ่งคือบริษัท start-up ในมหาวิทยาลัยที่โปรเฟสเซอร์เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง กำลังจะย้ายแลบออกจากคณะ เนื่องจากมีการร่วมทุนกับนักลงทุนชาวสวิตเซอร์แลนด์ และแลบใหม่ของบริษัทจะเปิดในอีก 1 เดือนข้างหน้า โดยศุภกานจะต้องย้ายไปทำแลบที่นั้นและเป็นส่วนหนึ่งของทีม R&D หลัก ในการประชุมร่วมกับทีมที่บริษัทครั้งแรกนั้นมีทั้งความตื่นเต้น วิตกกังวล สับสน เครียด ผสมปนเป เนื่องจากไม่ได้คาดคิดว่า จะต้องเข้าไปอยู่ในบริษัทยา start-up มาก่อน แม้จะมีความกังวล กดดัน กลัวว่าศักยภาพเราจะไม่เพียงพอ แต่เมื่อคิดได้ว่า นี่เป็นโอกาสที่เราจะได้หาคำตอบเกี่ยวกับการวิจัยยาใหม่แบบเจาะลึก โอกาสที่จะพัฒนาศักยภาพตัวเอง ก็ทำให้มีกำลังใจขึ้นมาบ้าง โดยการรับทุนมีเงื่อนไขว่าจะต้องทำโปรเจคของบริษัท ซึ่งโปรเจคเหล่านั้นเป็นโปรเจคการพัฒนายาใหม่ มีวัตถุประสงค์เพื่อคิดค้น ค้นหาสิ่งใหม่ที่สามารถนำไปจดสิทธิบัตรยาได้ ไม่จำกัดแค่ตัวยาหรือสูตรตำรับ แต่รวมถึงขั้นตอนและขบวนการใหม่ด้วย เมื่อจดสิทธิบัตรเรียบร้อย จะได้รับอนุญาตให้ตีพิมพ์ผลงานเพื่อใช้ในการจบการศึกษาได้

   เมื่อนึกย้อนกลับไป ต้องขอบคุณความพยายามและการคิดบวกที่ทำให้เดินทางมาตามหาคำตอบของการวิจัยยาใหม่จนได้ ช่างคุ้มค่าเสียจริง เพราะได้ประสบการณ์การทำวิจัยยาใหม่ด้วยมือตัวเอง เช่น การวิจัยขยาย application ของ OPTIREACH TECHNOLOGY สำหรับจดสิทธิบัตร และได้เป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จในการจดสิทธิบัตร solubilizing formulation technology ใหม่ นอกจากนี้ยังมีส่วนช่วยให้บริษัทเติบโตเป็นบริษัทยาระดับโลกที่มีสาขาทั้งในยุโรป จีน และล่าสุดสามารถเข้าตลาดหลักทรัพย์ที่สหรัฐอเมริกาได้ แม้ระหว่างทางจะต้องฝ่าฟันอุปสรรคหลายอย่าง เช่น ภาษา การบริหารจัดการเวลาให้โปรเจคปริญญาเอกและบริษัทดำเนินควบคู่กันได้อย่างลงตัว การนำเสนอและแสดงความคิดเห็นในการประชุม การทำงานเป็นทีมร่วมกับคนหลากหลายเชื้อชาติ วัฒนธรรม และภาษา นอกจากนี้การเรียนในบริษัทยาจริงทำให้เข้าใจการทำวิจัยยาใหม่ได้เป็นอย่างดี ได้พัฒนาศักยภาพในหลายๆ ด้าน ได้เรียนรู้การทำงานวิจัยเพื่อต่อยอดเป็นนวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ยา และได้เปิดโลก เปิดมุมมองเกี่ยวกับการวิจัย เนื่องจากการวิจัยในต่างประเทศมีความหลากหลาย เปิดกว้าง ยืดหยุ่น ทีมวิจัยมีการอภิปรายแลกเปลี่ยนความรู้ ไอเดียต่างๆ ตลอดเวลา มีการทำงานเป็นทีม อิสระ และมีความเป็นมืออาชีพสูง ภายหลังจากที่ได้รับอนุญาตให้ตีพิมพ์ผลงานได้ ผลงานที่ตีพิมพ์ได้รับความสนใจจากบริษัทยาอื่นในสหรัฐอเมริกาและได้รับการติดต่อเพื่อขอบทความ นอกจากนี้ Journal of Pharmaceutical Sciences ยังได้มอบรางวัล Outstanding early career scientists for 2022 ให้จากการตีพิมพ์บทความในวารสารดังกล่าว ทั้งหมดนี้คงเกิดขึ้นไม่ได้หากไม่ได้รับแรงกระตุ้นและทักษะในการทำแลบจากสำนักยาและวัตถุเสพติด กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

            การค้นคว้าวิจัยก็เหมือนการเดินทางไปในที่ใหม่ๆ ไปพบเจอสิ่งใหม่ และเก็บเกี่ยวประสบการณ์ ความรู้ ความคิดที่แตกต่างระหว่างทาง มาใช้กับชีวิต ทุกการเดินทางไปในที่ใหม่ย่อมมีความท้าทายที่ต้องอาศัยความกล้าและมุ่งมั่น ในการพิชิตจุดหมายปลายทางที่สวยงาม

 

ข่าวสารอื่นๆ